การเรียนวิชาภาษาไทย

ประโยชน์และเหตุผลของการเรียนวิชาภาษาไทย

เชื่อว่าเด็กๆ หลายคน ต้องเคยสงสัยว่าทำไมต้องเรียนวิชาภาษไทย ที่ต้องอ่าน ต้องท่องจำข้อมูลเยอะมากมาย ทั้งๆ ที่เราก็พูดได้แล้ว และเป็นภาษาของเราเอง เหตุผลก็คือเพราะเป็นภาษาของเราเอง เราก็ควรที่จะต้องใช้ให้ถูกต้องมากที่สุด ก่อนที่จะไปเรียนรู้วิชาอื่นเพิ่มเติม วันนี้เรามาติดตามกันว่า ประโยชน์และเหตุผลของการเรียนวิชาภาษาไทยนั้นมีอะไรบ้าง

เหตุผลที่ว่าทำไมเด็กต้องเรียนวิชา​ภาษาไทย

1. ภูมิใจที่เรามีภาษาของตัวเอง
ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ ที่คนจากชาติอื่นๆ ก็อยากเรียนรู้ภาษาของเราไม่แพ้กัน เรามีตัวอักษรไทยเป็นของเราเอง ซึ่งในความยากและซับซ้อนของภาษาไทยนี้มีเอกลักษณ์และแตกต่างจากภาษาอื่น ความไพเราะของภาษาที่มีจุดเด่นคือ มีเสียงวรรณยุกต์สูง-ต่ำ

2. ภาษาไทยเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต
ไม่ว่าจะเป็นการฟัง การพูด การอ่าน หรือการเขียน ซึ่งเราหลีกเลี่ยงภาษาไทยไปไม่พ้นเพราะจำเป็นต้องใช้ภาษาไทยติดต่อสื่อสารอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่เรียนภาษาไทย ไม่รู้จักการเลือกใช้คำพูด ความเหมาะสม น้ำเสียง ก็จะทำให้เราสื่อสารกับผู้อื่นไม่เข้าใจ และอาจไม่ตรงความหมายได้

การเรียนวิชาภาษาไทย

3. ภาษาไทยเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาติ
ภาษาถือเป็นเครื่องวัดความมีวัฒนธรรมของชาติ วัฒนธรรมต่างๆของชาติต้องอาศัยภาษาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอด และในตัวภาษาไทยเองก็จะมีวัฒนธรรมของภาษาแทรกอยู่ รวมทั้งกลวิธีการใช้ภาษาในวรรณคดีที่มีการเล่นคำได้อย่างน่าสนใจ หรือการเล่นสัมผัส ซึ่งเป็นคุณค่าทางภาษาที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก อย่างที่องค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้ ‘สุนทรภู่’ เป็น บุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม ดังนั้นเราจึงควรภูมิใจที่ได้เรียนภาษาไทย

4. ฝึกนิสัยเป็นคนช่างสังเกตและรอบคอบ
การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ออกเสียงชัดเจน ฉะฉาน คล่องในเรื่องไวยากรณ์ หลักภาษาไทยต่าง ๆ สามารถแยกความหมายของคำออก เช่น คำว่า “หนาแน่น” และ “แน่นหนา” ที่มีความหมายคล้ายกัน แต่ใช้ในบริบทที่แตกต่างกัน ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้แสดง ให้เห็นว่าภาษาไทยของเรานั้นมีความละเอียดลออ เราในฐานะเจ้าของภาษาต้องใส่ใจในรายละเอียดนี้ เพื่อจะได้ใช้ภาษาได้ถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้นเราจึงควรศึกษาภาษาไทยของเราให้มากๆ

5. เรียนภาษาไทยสนุกขึ้น ถ้าเรารู้ประวัติศาสตร์ ต้นกำเนิดภาษาไทย
กว่าเราจะมีภาษาเป็นของเราเองนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ภาษาไทยปรากฏครั้งแรกในพุทธศักราช 1826 โดยพ่อขุนรามคำแหง ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อปี พ. ศ. 1826 มี พยัญชนะทั้งหมด 44 ตัว (21 เสียง), สระ 21 รูป (32 เสียง), วรรณยุกต์ 5 เสียง คือ เสียง สามัญ เอก โท ตรี จัตวา ภาษาไทยดัดแปลงมาจากบาลี-สันสกฤต มอญ และ เขมร

ภาษาไทยได้ปรากฏอย่างสากลและใช้ในงานของราชการ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ด้วยการก่อตั้งสำนักงานราชบัณฑิตยสภาขึ้น และได้ปฏิรูปภาษาไทย ในพุทธศักราช 2485

อย่างที่เราทราบกันว่า ในปัจจุบัน เด็กๆ วัยรุ่นนิยมใช้ศัพท์วัยรุ่น หรือศัพท์แชทในการสื่อสารทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก ทำให้ติดภาพคำไทยที่ใช้ผิดจนคิดว่าคำนั้นถูกต้อง ดังนั้นเมื่อเราทราบประโยชน์จากการเรียนภาษาไทยแบบนี้แล้ว เราควรตั้งใจเรียนรู้ เพื่อสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องที่สุด

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ travelwithmea.com

Releated